13 กุมภาพันธ์ 2557

อีกเรื่องราวเกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้นด้วย P/E Ratio และ มีการคำนวนอย่างไร

(จาก www.siu.ac.th)


การวิเคราะห์หุ้นด้วยค่า P/E Ratio เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมากสำหรับนักลงทุนทั่วไป ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าหุ้นแต่ละตัว หรือ ในแต่ละอุตสาหกรรมควรจะมีค่า P/E เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เพื่อที่จะได้นำมาเป็นส่วนช่วยในการที่จะตัดสินใจลงทุนในหุ้นนั้นๆ  (ซึ่งบ้างก็ว่าต้อง P/E ต่ำกว่า 10 เท่าถึงจะน่าสนใจ) โดยค่า P/E Ratio นั้นได้จากการนำราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้น เช่น หุ้น ก ปัจจุบันราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น 1บาท เพราะฉะนั้น ค่า P/E Ratio ของหุ้น ก จึงเท่ากับ 10/1 = 10 เท่า เป็นต้น


ทั้งนี้การวิเคราะห์ค่า P/E นั้นเราไม่สามารถทำการวิเคราะห์แบบเดี่ยวๆได้แต่ต้องเป็นการวิเคราะห์ในเชิงเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงจะสามารถบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาถูกหรือแพงเกินไปแล้ว  เช่น หุ้น ก ราคาหุ้น 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น  1 บาท เพราะฉะนั้น ค่า P/E ของหุ้น ก จึงเท่ากับ 10 เท่า ในขณะที่ หุ้น ข ราคาหุ้น 10 บาท แต่มีกำไรต่อหุ้น 2 บาท ค่า P/E ของหุ้น  ข จึงเท่ากับ 5 เท่า เพราะฉะนั้นหากทำการวิเคราะห์แค่ปัจจัยนี้ หุ้น ข จึงน่าลงทุนกว่าหุ้น ก เพราะมีค่า P/E ที่น้อยกว่า


อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางคนก็มองค่า P/E ว่าเป็นการคำนวณถึงจุดคุ้มทุนด้วย เช่น หุ้น ข มีค่า P/E  5 เท่า ถ้ากำไรต่อหุ้นของหุ้น ข ไม่เปลี่ยนแปลงคือได้ 2 บาทต่อหุ้นไปทุกๆปีแล้ว ภายใน 5 ปี ผู้ลงทุนก็จะได้เงิน 10 บาทที่ลงทุนไปคืนมา
แต่ในบางครั้งการที่หุ้น มีค่า P/E ที่ต่ำก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป หากหุ้นเหล่านั้นมีค่า P/E ที่ต่ำเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. เป็นหุ้นที่ไม่เติบโตแล้ว
  2. เป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมตะวันตกดิน คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยให้ความสนใจ
  3. เป็นหุ้นที่ยอดขายเริ่มตกลงอย่างถาวร ส่งผลให้กำไรลดลง
  4. มีความเสี่ยงสูง ทำให้นักลงทุนต้องการผลตอบแทนมากขึ้น
  5. เป็นหุ้นวัฏจักรที่คาดการณ์กำไรลำบาก
  6. อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนสูงตลอดเวลา ทำให้ต้องใช้เงินเยอะ ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนต่ำ
ในขณะที่ หุ้นบางตัวในบางอุตสาหกรรมมีค่า P/E ที่สูงมาก 30-40 เท่า แต่นักลงทุนก็ยังให้ความสนใจ เช่น หุ้นในกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น นั่นก็เป็นเพราะว่านักลงทุนคาดหวังการเติบโตของหุ้นเหล่านั้น ว่ากำไรในอนาคตจะเติบโตอย่างสม่ำเสมอในอัตราที่สูงทุกปี เพื่อมาชดเชยค่า P/E ที่สูงนั้น นั่นจึงเป็นที่มาของอัตราส่วนในการวิเคราะห์ที่เรียกว่า PEG คือนำค่า P/E ที่คำนวณได้มาหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของหุ้นตัวนั้นๆ ซึ่งหากค่าที่ได้ออกมา ประมาณ 1 เท่าหรือมากกว่านิดหน่อย ก็นับได้ว่าหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจเช่นกัน เช่น หุ้นค้าปลีกตัวหนึ่งมีค่า P/E 30 เท่า แต่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ 30 % ต่อปี เพราะฉะนั้น หุ้นตัวนี้จึงมีค่า PEG เท่ากับ 1 จึงนับได้ว่ามีความน่าสนใจในการลงทุนเช่นกัน

อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์เพื่อหาหุ้นที่จะทำการลงทุนนั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ ซึ่ง การใช้ค่า P/E Ratio มาทำการวิเคราะห์นั้นก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆปัจจัยเท่านั้น ดังนั้นก่อนที่นักลงทุนจะซื้อหุ้นตัวใดก็ตามจึงควรทำการศึกษารายละเอียด และ ทำการวิเคราะห์ด้วยตนเอง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนให้เหลือน้อยที่สุด


-----------------------------------------------------------------------------------------


สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาแนวทางการลงทุนประเภทเน้นคุณค่าแล้ว คงจะได้ยินคำว่า พีอี เรโช (P/E Ratio) เป็นประจำ ในวันนี้เรามาเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยกันดีกว่า


พีอี เรโช (P/E Ratio) หรือ Price-Earnings Ratio คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไร เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดมูลค่าหุ้นที่เก่าแก่มากและได้รับความนิยมสูง


P ย่อมาจาก Price ซึ่งก็คือ ราคา ,ส่วน E ย่อมาจาก Earning ซึ่งก็คือกำไร  การหาค่า P/E Ratio ทำได้โดยเอา ราคาหุ้นมาตั้งแล้วหารด้วยกำไรของกิจการ


โดยส่วนมากแล้ว กำไรต่อหุ้น (EPS) ที่นำมาใช้คำนวน ค่า P/E จะได้มาจาก 4 ไตรมาสล่าสุด ซึ่งก็คือ ผลกำไรในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมานั่นเอง ค่า P/E ที่คำนวนเช่นนี้ ถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Trailing P/E”


อย่างไรก็ตาม นักการเงินบางท่านก็อาจใช้ กำไรต่อหุ้น (EPS)  2 เดือนล่าสุดมารวมกับ EPS อีก 2 เดือนในอนาคต ที่ได้จากการประเมิน มาคำนวนค่า P/E ซึ่งจะทำให้ค่าที่ได้ออกมาแตกต่างกันไป แม้จะแตกต่างไม่มาก แต่ก็ทำให้เราตระหนักได้ว่าค่าที่ได้จากการคำนวนไม่ได้เที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป


สำหรับบริษัทที่ไม่มีผลกำไร หรือ การดำเนินงานขาดทุน ค่า P/E ที่ได้นั้น มีความเห็นจากนักวิชาการต่างกันไป บางคนบอกว่า เป็นค่าติดลบ ,บางคนบอกว่า P/E เป็น 0 และบางคนก็บอกว่าไม่มี P/E


การนำค่า พีอี เรโช (P/E Ratio) มาใช้วิเคราะห์


ค่า P/E จะช่วยบอกให้ทราบว่า นักลงทุนต้องจ่ายเงินเท่าไรเพื่อให้ได้กำไร 1 บาท , ยกตัวอย่างเช่น
หุ้น A ราคา 100 บาท  บริษัทมีผลกำไรต่อหุ้นใน 4 ไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 20 บาท
ค่า P/E ที่คำนวนได้จะเท่ากับ 100/20 = 5
แสดงว่า นักลงทุนต้องจ่ายเงิน 5 บาท เพื่อให้บริษัทได้กำไร 1 บาท ต่อปี



ใช้พีอี เรโช (P/E Ratio) มาหาว่าหุ้นถูก หรือ แพง


ในมุมมองของนักลงทุนเน้นคุณค่า หุ้น A ราคา 100 บาท ไม่ได้หมายความว่าแพงกว่า หุ้น B ราคา 50 บาท เพราะหาก ค่า P/E ของหุ้น A คำนวนได้ 10 ในขณะที่หุ้น B คำนวนออกมาได้ 20 นั่นหมายความว่า หุ้น A ราคาถูกกว่าหุ้น B


จะเห็นได้ว่า ค่า P/E ยิ่งต่ำ ยิ่งดี


สองปัจจัย ที่ควรนำมาคำนึงถึงในการคำนวน P/E


1. อัตราการเติบโตของบริษัท : เนื่องจากค่า P/E เป็นการนำข้อมูลในในอดีตมาใช้ แต่สำหรับบางบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงนั้น จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงเปอร์เซ็นต์การเติบโตด้วย เพราะหากใช้ P/E ในอดีต จะดูเหมือนว่า หุ้นนั้น ๆ มี P/E ที่สูงมาก ไม่น่าลงทุน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ราคาของหุ้นยังน่าลงทุนอยู่
วิธีที่ดีในการคาดการณ์ราคาที่เหมาะสมด้วยสูตร P/E สำหรับหุ้นบริษัทที่มีการเติบโตสูง คือ ใช้ EPS ที่ได้จากการคาดการณ์การเติบโตมาใช้


2. กลุ่มอุตสาหกรรม : เนื่องด้วยแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม มีการเติบโตที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค จะมีการเติบโต ต่ำกว่า หุ้นบริษัทเทคโนโลยี


ดังนั้น หากท่านนำค่า P/E ของบริษัท 2 บริษัท ที่อยู่คนละกลุ่มอุตสาหกรรม มาเทียบกัน ก็จะได้รับข้อมูลค่าเคลื่อน ยกตัวอย่าง เช่น


หุ้น A อยู่กลุ่มสื่อสาร มีค่า P/E  20  ในขณะที่หุ้น B อยู่ในกลุ่มโรงพยาบาล มีค่า P/E 15  หากเปรียบเทียบกันแล้ว หุ้น B จะดูน่าลงทุนมากกว่า


แต่เมื่อไปเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจสื่อสารแล้ว พบว่า P/E เฉลี่ย มากกว่า 30
ในขณะที่กลุ่มโรงพยาบาล P/E ส่วนใหญ่ อยู่ที่ 5


แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มสื่อสาร หุ้น A ยังน่าลงทุนอยู่ ในขณะที่หุ้น B นั้นมีค่า P/E สูงกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน



ปัญหาของการนำค่า P/E มาใช้

- ควรระมัดระวังตัวเลข : กำไรต่อหุ้น ที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น บริษัทมีกำไรเฉพาะกาลจากการขายสินทรัพย์ ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจตามปกติ หากเรานำตัวเลขกำไรในไตรมาสนั้นมาร่วมใช้คำนวน ก็จะทำให้ค่า P/E ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น



- นอกจากนั้นในสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ธุรกิจที่มีสินค้าคงคลังจำนวนมาก ดูเหมือนจะมีค่า P/E ต่ำ เพราะ EPS สูง แต่เมื่อสินค้าดังกล่าวหมดไป แนวโน้ม EPS ในอนาคต ก็อาจจะลดลง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์


- การตีความหมาย : หุ้นที่มีค่า P/E ต่ำ ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นหุ้นที่อยู่ในช่วงราคาที่เหมาะสมต่อการลงทุนเสมอไป เพราะบางบริษัทที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตรากำไรในอนาคตที่ต่ำลง ราคาหุ้นก็จะลดลงก่อน ทำให้ P/E ต่ำ


หวังว่าบทความเรื่อง พีอี เรโช (P/E Ratio) นี้ คงจะมีประโยชน์แก่นักลงทุนชาวไทยมือใหม่บ้าง ไม่มากก็น้อย
-----------------------------------------------------------------------------------------
จาก clubvi.com


ในการวัดว่าหุ้นแต่ละตัวราคาถูกหรือแพงนั้น วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ดูจาก “ค่า P/E”


ค่า P/E หรือ P/E Ratio ย่อมาจาก “Price to Earnings Ratio” เป็นค่าที่คำนวณได้ไม่ยาก โดยเอา “ราคาหุ้น” หารด้วย “กำไรต่อหุ้น” ตัวเลขที่ได้คือ “ค่า P/E” มีหน่วยเป็น “เท่า”


ค่า P/E ที่มักใช้กันมีอยู่สองประเภท คือ “Trailing P/E” (บ้างก็เรียกว่า LTM P/E) และ “Forward P/E”


Trailing P/E แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยคือ “P/E ตามหลัง” (แต่โดยมากมักไม่ค่อยแปลกัน) โดยค่า “E” ของ Trailing P/E มาจากกำไรต่อหุ้นซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิที่ประกาศต่อสาธารณชนแล้ว


ค่า E ของ Trailing P/E หาได้โดยเอากำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุดที่ประกาศแล้วของบริษัทมาบวกกัน แล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด ค่าที่ได้คือ “กำไรต่อหุ้น” หรือ E


จากนั้น ให้เอา P หาร E (ที่เพิ่งคำนวณออกมาได้) ตัวเลขที่ได้คือ Trailing P/E


เช่น เราต้องการคำนวณหาค่า P/E ของบริษัท Happy Home ณ วันที่ 15 ส.ค. 2555 สิ่งที่ต้องทำก็คือ เอากำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุดของบริษัท ในกรณีนี้คือกำไรไตรมาสที่ 3/54, 4/54, 1/55 และ 2/55 บวกกัน สมมุติว่าได้เท่ากับ 1,200 ล้านบาท แล้วหารด้วยปริมาณหุ้นในตลาดของบริษัท Happy Home สมมุติว่ามีอยู่ 2,400 ล้านหุ้น ค่า E ที่ได้จะเท่ากับ “0.5” (1,200 /2,400)


จากนั้น ให้เอาราคาตลาดของบริษัทแฮปปี้โฮม ณ เวลาที่คำนวณ สมมุติว่าเท่ากับ 4 บาท หารด้วยค่า E คือ 0.5 ค่า P/E ของบริษัทแฮปปี้โฮมก็จะเท่ากับ 4/0.5 = 8 เท่า


อนึ่ง Trailing P/E บ้างก็เรียกชื่อว่า “LTM P/E” ย่อมาจาก “Last Twelve-Month P/E” ซึ่งหมายถึง P/E ที่มาจากกำไรสุทธิต่อหุ้น (E) ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง (4 ไตรมาสล่าสุด) นั่นเอง
ค่า P/E อีกประเภทหนึ่งคือ Forward P/E แปลตรงตัวคือ “P/E ล่วงหน้า” (บ้างก็เรียกว่า P/E อนาคต) ซึ่งจะใช้ค่า E จากกำไรที่คาดการณ์ไปข้างหน้า โดยมักคาดการณ์ไปในรอบปีบัญชีถัดไปเต็มปี เช่น หากคำนวณในวันที่ 15 ส.ค. 2012 ก็มักใช้ค่า E ของปี 2013 ทั้งปี เป็นต้น (แต่จะรวมถึงปี 2014 หรือ 2015 ด้วยก็ได้)


จากนั้นก็คำนวณในลักษณะเดียวกับ Trailing P/E ค่าที่ได้ออกมาจะเป็น Forward P/E ที่เราต้องการ (อาจใช้เครื่องหมายว่า P/E 2013F, P/E 2014F โดย F ย่อมาจาก Forecast เพื่อให้รู้ว่าเป็นค่า P/E ที่คาด)


ดังนั้น จากตัวอย่างเดิม เราต้องคำนวณกำไรสุทธิที่คาดของบริษัท Happy Home ในปี 2556 เต็มปี หารด้วยจำนวนหุ้น คือ 2,400 ล้านหุ้น จึงจะได้ค่า E ออกมา


จะเห็นได้ว่า Trailing P/E เป็น P/E ที่เกิดจาก “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่ Forward P/E เป็น P/E ที่เกิดจาก “การคาดการณ์” ของแต่ละบุคคล ซึ่งย่อมมีความไม่แน่นอนอยู่มาก


ข้อดีของ Trailing P/E (หรือ LTM P/E) คือ ความน่าเชื่อถือ เพราะมีที่มาจากกำไรที่เกิดขึ้นจริง แต่ข้อเสียคือ อาจสะท้อนความถูกแพงของราคาหุ้นได้ไม่ทันการ โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตอย่างรวดเร็ว


ส่วน Forward P/E ข้อดีคือ ข้อมูลที่ใช้อัพเดตกว่า และเป็นการมองไปในอนาคต  แต่ข้อเสียที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือความไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นเพียงการคาดเดาล่วงหน้า ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าจะเป็นไปตามนั้น
เพราะฉะนั้น เวลามีคนมาบอกคุณว่า หุ้นตัวนี้ P/E ถูก ก็ต้องถามให้แน่ใจว่า P/E ในที่นี้ หมายถึง Trailing P/E หรือ Forward P/E ถ้าเป็นประเภทหลัง ก็อย่าเพิ่งเชื่อไปเสียทั้งหมด


อย่างไรก็ตาม ค่า P/E จากแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ รวมทั้งค่า P/E ที่ระบุไว้ในเว็บไซต์การลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ เช่น settrade.com, set.or.th มักจะเป็น Trailing P/E แทบทั้งนั้น ต่างจากค่า P/E ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ที่อาจเป็น Forward P/E


ทั้งนี้เพราะโดยธรรมชาติของโบรกเกอร์ เวลาแนะนำหุ้นให้ลูกค้า ย่อมต้องคาดการณ์ไปในอนาคต เพื่อนำไปสู่การหาราคาที่เหมาะสม ดังนั้น P/E ที่บริษัทหลักทรัพย์ใช้ บ่อยครั้งจึงเป็นเพียง Forward P/E หรือ P/E คาดการณ์


อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ นักลงทุนจำนวนมากมักเปรียบเทียบความถูกแพงของราคาหุ้น โดยใช้ค่า P/E ของหุ้นตัวนั้นๆ เทียบกับค่า P/E ของหุ้นตัวอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน วิธีเช่นนี้ถือว่าน่าสนใจ แต่ก็มีจุดอ่อน เพราะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แม้จะมีความใกล้เคียง แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันไปเสียทั้งหมด
เช่น บริษัทในกลุ่มค้าปลีก บางบริษัททำร้านสะดวกซื้อ บางบริษัททำห้างสรรพสินค้า บางบริษัทขายสินค้าเทคโนโลยี ฉะนั้น การจะบอกว่าราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ควรมีความถูกแพงในระดับที่ใกล้เคียงกันก็อาจพูดได้ไม่เต็มปากนัก


นอกจากนี้ การตัดสินใจซื้อหุ้นโดยดูจากค่า P/E เพียงอย่างเดียวก็ยังขาดความสมบูรณ์อยู่ เช่น หุ้นที่มี P/E 10 เท่า ก็อาจไม่ได้น่าซื้อไปกว่าหุ้นที่มี P/E 12 เท่า เสมอไป หากว่ามันมีการเติบโตต่ำ หรือว่าเป็นธุรกิจขาลง
อาทิ หุ้นของบริษัทสิ่งทอบริษัทหนึ่ง มีค่า P/E เพียง 9 เท่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับหากเข้าไปลงทุน อาจจะน้อยกว่าหุ้นค้าปลีกที่มี P/E เกิน 20 เท่า แต่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งก็เป็นได้


ดยสรุป ค่า P/E เป็นหนทางหนึ่งในการวัดความถูกแพงของราคาหุ้น เป็นวิธีที่เรียบง่ายและได้รับความนิยมมาก

ไม่มีความคิดเห็น: